ไม่มีรายการ

GEN Y ควรปั้นเงินก่อนปั้มหนี้
26 ธันวาคม 2562
ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยข้อมูลภาพรวมสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ใน Q3/62 มีประเด็นที่น่าสนใจอยู่หลายประเด็น ดังนี้
- ภาพรวมสินเชื่อกลุ่มอุปโภคบริโภคขยายตัว 8.4% เทียบกับ Q2/62 โดยสินเชื่อรถยนต์ขยายตัวมากที่สุดถึง 12.5% ถัดมาเป็นสินเชื่อบัตรเครดิต 8.2% และปิดท้ายด้วยสินเชื่อที่อยู่อาศัย 6.4%
- ลูกหนี้สำคัญใน 3 หมวดนี้ก็คือกลุ่ม Gen Y ที่มีอายุอยู่ในช่วง 21-38 ปี ที่ในแต่ละพอร์ตสินเชื่อมีสัดส่วนประมาณ 50% และหากดูสถิติย้อนหลัง ยังพบอีกว่ากลุ่ม Gen Y มีอัตราการขอสินเชื่อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
3. กลุ่ม Gen Y มีรายได้เฉลี่ยราว 20,000 บาท/เดือน
ด้าน TMB Analytics เปิดเผยข้อมูลว่า Gen Y ช่วงต้น อายุ 23-30 ปี เป็นกลุ่มกำลังแรงงานสำคัญของประเทศ เริ่มทำงาน มีรายได้ คาดหวังว่าก่อนอายุ 40 ปี จะมีบ้าน 48% รถยนต์ 22% แต่กลับอยากมีเงินออมและสินทรัพย์อื่น ๆ เพียง 13%
เมื่อเจาะลึกลงไป พบว่า Gen Y มียอดใช้จ่ายในกลุ่มสินค้า “ของมันต้องมี” อย่างโทรศัพท์ เสื้อผ้า เครื่องสำอาง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ กระเป๋า และนาฬิกา/เครื่องประดับ ถึง 69% หรือปีละ 95,518 บาท คิดเป็น 1 ใน 4 ของรายได้ต่อปี
ส่งผลให้ในภาพรวม Gen Y ใช้เงินไปกับ “ของมันต้องมี” ถึงปีละ 1.37 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าสูงเทียบได้กับ 13% ของ GDP
ขณะที่เงินที่ใช้ซื้อ “ของมันต้องมี” นั้น ส่วนใหญ่ถึง70% บอกว่ามีเงินไม่พอ จึงต้องกู้จากธนาคารและใช้บัตรเครดิตกับบัตรกดเงินสดในการใช้จ่าย โดยมากกว่า 70% ของหนี้ส่วนนี้ต้องผ่อนชำระโดยเสียดอกเบี้ย
สมาคมบริษัทจัดการลงทุนเปิดเผยสถิติเงินออมและเงินลงทุนของคนไทย ณ เดือนมิถุนายน 2562 พบว่า ประเทศไทยมีเงินออมหรือลงทุนด้วยการฝากเงินทั้งหมด 30 ล้านล้านบาท โดยภาพรวมการออมของประเทศไทยขยายตัวในอัตราที่ลดลง สาเหตุหลักมาจากผลตอบแทนของการออมเงินในรูปเงินฝากธนาคารให้ผลตอบแทนต่ำ คนส่วนหนึ่งจึงเลือกลงทุนด้านอื่น เช่น กองทุน และเงินสำรองประกันภัย เป็นต้น
ขณะที่ Gen Y ตั้งเป้าอยากมีเงินเก็บ 6 ล้านบาท แต่ออมเงินโดยเฉลี่ยเพียงเดือนละ 5,500 บาท ซึ่งถ้าเก็บด้วยอัตรานี้ต้องใช้เวลาถึง 90 ปี จึงจะไปถึงเป้าหมาย
จากตารางการออมเงินต่อเดือนของ Gen Y แสดงให้เห็นว่า Gen Y ยังไม่มีการวางแผนทางด้านการเงินอย่างดีพอ และไม่สามารถจัดการบริหารการเงินได้อย่างเหมาะสม สะท้อนภาพ “ฝันไกลแต่ไปไม่ถึง”
จากข้อมูลข้างต้นสะท้อนภาพของ Gen Y ได้ชัดเจนว่า “ก่อหนี้เกินตัว” สวนทางกับความฝันอันสวยหรูว่าอยากมีเงินเก็บ มีบ้าน และมีรถ
ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงต้องหยุดปั้มหนี้ไม่จำเป็น เริ่มต้นด้วยการปั้นเงินก่อนเป็นลำดับแรก กับสิ่งที่เรียกว่า “วางแผนการเงิน”
การวางแผนการเงินเริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการออม ด้วยสมการออมเงิน
ค่าใช้จ่าย = รายได้ – เงินออม
เก็บก่อนใช้เงิน เพราะถ้าใช้ก่อนแล้วค่อยเก็บ ส่วนใหญ่จะไม่เหลือเก็บ หรือเหลือเก็บน้อยกว่าเป้าหมายที่วางไว้
ระหว่างออมเงินก็ต้องศึกษาวิธีให้เงินทำงาน อย่าเก็บเงินไว้เฉย ๆ ให้อัตราเงินเฟ้อกัดกินจนมูลค่าของเงินนั้นลดลงไปตามเวลา
วิธีให้เงินทำงาน หรือเงินต่อเงิน มีหลากหลายวิธี ที่โดยภาพรวมเรียกกันว่า “การลงทุน” ไม่ว่าจะเป็นหุ้น กองทุนรวม ประกันชีวิต อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ซึ่งขึ้นอยู่กับความชอบและความถนัดของแต่ละคน ตลอดจนบริบททางการเงินที่แตกต่างกันออกไป หวังผลตอบแทนจากหุ้นเต็มเหนี่ยว หวังผลตอบแทนและสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากกองทุนรวม หวังความอุ่นใจและสิทธิประโยชน์ทางภาษีกับประกัน เป็นต้น
วิธีให้เงินทำงานไม่ใช่เรื่องยาก แต่อยู่ที่เราจะให้ความสำคัญอย่างแท้จริงหรือไม่
แต่ที่สำคัญกว่าสิ่งใด ก่อนจะให้เงินทำงาน วันนี้เราหยุดปั้มหนี้เกินตัวแล้วหรือยัง
อย่าดูถูกสิ่งเล็ก
สิ่งเล็กเมื่อรวมกันจะกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่เสมอ
สำหรับการเก็บเงิน และนำไปลงทุนต่ออย่างเหมาะสม จะให้ผลตอบแทนมหาศาลอย่างที่เราอาจจะคาดไม่ถึง
ผลตอบแทนอาจไม่ต้องทวีคูณแบบเรขาคณิตเหมือนในรูปข้างต้น เพียงแค่เพิ่มขึ้นแบบเลขคณิตก็สวยหรูมากพอแล้ว
กลับกัน ณ วันที่เราก่อหนี้ อาจจะยอดทีละเล็กละน้อย เมื่อรวมกันหลาย ๆ ยอด ยอดหนี้มันก็เยอะจนเกินตัวได้เช่นกัน
การเงินไม่ต้องแข่งกับใคร แค่แข่งให้ชนะตนเองก็พอ
--------------
ดาวน์โหลดแอปฯ Lumpsum ฟรี ได้ที่ลิ้งค์ด้านล่างนี้
iOS
Android