ไม่มีรายการ

เรารวยรึยังนะ? มาตรวจสอบความมั่งคั่งกันเถอะ
01 กรกฎาคม 2563
"นี่เธอ ชั้นสงสัยว่า เราจะรู้ได้ไงว่าเรารวย มีแค่ไหนถึงเรียกว่ารวย อย่างตอนนี้ตั้งเป้าเก็บเงินล้านแรก ถ้าทำได้ เงิน 1 ล้านนี่เรียกว่ารวยได้แล้วเหรอ?"
“แหมๆๆๆๆ ทำให้ได้ก่อนเถอะ”
“ได้อยู่แล้วจ้า มั่นใจมาก อย่าเพิ่งแขวะชั้น ตอบที่ถามเร็ว” ช่างมั่นหน้ามั่นโหนก กะโหลกกะลาจริง ๆ 55+
“ก็จริงอย่างที่เธอพูด เงิน 1 ล้าน ในสมัยนี้ ถ้าเทียบกับ 20 หรื 30 ปีก่อน ก็ไม่ได้มากมายอะไร”
“เนอะ”
“ถ้าพูดถึง “รวย” คนส่วนใหญ่ก็มักจะนึกภาพถึงคนที่มี รายได้สูง ๆ มีเงินทองมากมาย หรือ ใช้ชีวิตสุขสบาย เพราะสิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนเครื่องหมายแสดงฐานะทางสังคม สื่อให้เห็นถึงความมั่งคั่งร่ำรวย”
“แต่จริง ๆ แล้ว จะร่ำรวยหรือมั่งคั่ง ไม่ได้วัดกันที่ตัวเงินหรือสินทรัพย์ แต่วัดกันด้วย เงินที่เหลืออยู่”
“ยังไงอะ”
“เงินที่เหลืออยู่คือ สินทรัพย์ทั้งหมดหักลบกับหนี้สินทั้งหมดแล้ว ยิ่งเหลือมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เพราะเราจะสามารถนำสินทรัพย์เหล่านี้ไปลงทุนต่อให้งอกเงยได้ยังไงละ”
ทรัพย์สิน – หนี้สิน = ทรัพย์สินสุทธิ (ความมั่งคั่ง)
“I get it นั่นหมายความว่า หาเงินได้มากน้อย ยังไม่สำคัญเท่าเก็บได้มากน้อยเท่าไหร่ ใช่มะ”
“ใช่แล้วจ้า หาได้เป็นแสน แต่แทบไม่มีเก็บ บางทีมันก็ไม่มีประโยชน์ โดยเฉพาะถ้าไม่มีเก็บเพราะฟุ่มเฟือย”
“ก็จริงของเธอ แล้วจะรู้ได้ไงละว่ารวยแล้ว”
“ใจเย็นซิ ก่อนจะรวย ก็ต้องเอาให้รอดก่อน อย่าเพิ่งข้ามขั้นตอน”
“จ้า”
“เธอเคยได้ยิน อัตราส่วนความอยู่รอด มั้ย”
“ไม่เคยอะ”
“อัตราส่วนความอยู่รอดคือ รายได้มันพอกับค่าใช้จ่ายมั้ย”
“รายได้หลัก ๆ ของทุกคนก็จะมาจาก 2 ทาง คือ จากการทำงาน กับจากผลตอบแทนในการลงทุน แต่คนส่วนใหญ่ก็จะมาจากการทำงานเป็นหลัก ใช่มะ”
“ใช่จ้า”
“ที่นี้ ถ้าเอารายได้ทั้งหมดมาหารกับค่าใช้จ่ายทั้งหมดในแต่ละเดือน หากได้มากกว่า 1 ก็คืออยู่รอด ใช้เงินไม่เกินตัว แต่หากน้อยกว่า 1 นี่แย่ละ จะเกิดอาการชักหน้าไม่ถึงหลักแน่นอน”
อัตราส่วนความอยู่รอด = (รายได้จากการทำงาน + ผลตอบแทนจากสินทรัพย์) / รายจ่าย
“ยังไม่ค่อยเข้าใจอะ ชั้นไม่เก่งเลข”
“ก็คือหาได้น้อยกว่าใช้ก็ไม่รอด แต่ถ้าหาได้มากกว่าใช้ก็จะรอดไงละ สมมติ วันนี้หาเงินได้ 100 บาท ใช้ไป 80 เหลือเก็บ 20 ถ้านำ 100/80 ได้มากกว่า 1 ใช่มะ ลองกดเครื่องคิดเลขดู”
“จริงด้วย ได้ 1.25”
“กลับกัน ถ้าวันนี้หาได้ 100 แต่ใช้ไป 120 ลองกดดู”
“ได้ 0.83 จริงด้วย เข้าใจละ I get it !!” หมั่นไส้สำเนียงหล่อนจริง
“รอดแล้ว เมื่อไร่จะรวย?”
“รายได้หลัก ๆ มาจาก 2 ทาง คือ จากการทำงานกับผลตอบแทนจากการลงทุน ที่นี้ ถ้าเราเอาเฉพาะรายได้ที่เป็นผลตอบแทนจากการลงทุนมาหารกับรายจ่าย ถ้ามากกว่า 1 นี่คือรวย หรือมั่งคั่งแน่นอน”
อัตราส่วนความมั่งคั่ง = ผลตอบแทนจากสินทรัพย์ / รายจ่าย
“เดี๋ยวๆๆๆๆ นี่เธอหมายความว่าไม่ต้องทำงานเลยใช่มั้ย?”
“ใช่แล้ว ถ้าเรามีอัตราส่วนความมั่งคั่งมากกว่า 1 ก็แสดงว่า แม้จะไม่ทำงาน ก็มีรายได้จากทรัพย์สินมากพอที่จะใช้จ่ายและใช้ชีวิตได้อย่างสุขสบาย ที่เรียกกันว่า อิสรภาพทางการเงิน”
“แต่ก็ดูยากใช่มั้ยละ”
“ใช่ ดูยากมาก”
“ไม่หรอกเธอ ไม่ยากเกินความพยายามของเราหรอก อย่าเพิ่งคิดว่ายาก ถ้ายังไม่ได้ลงมือทำ”
“คนส่วนใหญ่หวังพึ่งพิงกับรายได้จากการทำงานหรือเงินเดือนเป็นหลัก แต่ที่จริงแล้วการเรียนรู้และให้ความสำคัญกับการวางแผนการเงินในทุกมิติ ทั้งการหา การใช้ การเก็บ และโดยเฉพาะการลงทุน เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะจะนำพาเธอ ชั้น และทุกคนไปสู่ความมั่งคั่งและอิสรภาพทางการเงิน”
“มงลงมากแม่ เริ่ด!!”
“ดีออก มิสไรดี 55+”
สรุปเลยนะ
• รวยหรือมั่งคั่ง ไม่ได้วัดกันที่เงินที่หาได้ แต่วัดกันที่ “เงินที่เหลืออยู่”
• ก่อนรวยต้องรอดก่อน
• การรู้จักลงทุนจนได้ผลตอบแทนเพียงพอกับรายจ่ายคือความมั่งคั่งที่แท้จริง หรือที่เรียกว่า “อิสรภาพทางการเงิน”
อ้างอิง